เที่ยว 3 เมือง 3 สี แห่ง ราชาสถาน อินเดีย (Jaipur – Jaisalmer – Jodhpur)
ทุกครั้ง.. ที่ได้ออกเดินทาง ผมมักจะรู้สึกตื่นเต้นเสมอ
แต่ในครั้งนี้.. ตื่นเต้นเป็นพิเศษ เพราะจุดหมายปลายทาง คือ “อินเดีย”
การเดินทางในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 4 ตอน คือ
- 3 เมือง 3 สี แห่ง ราชาสถาน อินเดีย(เตรียมตัวเดินทาง)
- Jaisalmer : จัยซัลแมร์ Golden City (นครสีทอง)
- Jodhpur : จ๊อดปูร์ Blue City (นครสีฟ้า)
- Jaipur : ชัยปุระ Pink City (นครสีชมพู)
ทริปนี้.. ผมได้ออกเดินทางไปยัง เมืองชัยปุระ(Jaipur) นครสีชมพู แห่งรัฐราชาสถาน ที่ช่วงหลังมานี้เริ่มเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตา ของเหล่านักท่องเที่ยวกันบ้างแล้ว แถมปัจจุบันก็เดินทางไปได้ง่าย ด้วยเที่ยวบินตรงลง เมืองชัยปุระ(Jaipur) อย่าง สายการบินแอร์เอเชีย ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางแค่ 4 ชั่วโมงเศษ เท่านั้น ก็สามารถไปเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ ชัยปุระ(Jaipur) กันได้แล้ว
การเดินทางไป อินเดีย ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกของเราสองคนเลยครับ ก็มักจะตื่นเต้นเป็นธรรมดา ตั้งแต่การเริ่มวางแผนเที่ยว จองตั๋วรถไฟ จองที่พัก รวมไปถึงทริคท่องเที่ยวในอินเดียต่างๆ ที่ต้องทำการบ้านก่อนเดินทางอยู่พอสมควร และ จากการค้นหาข้อมูลการเดินทางเพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ ก็ทำให้พบว่า ในรัฐราชาสถาน มีหลายๆ เมืองที่น่าสนใจมาก แต่ละเมืองก็ล้วนมีเสน่ห์น่าไปสัมผัส เดินทางไม่ไกลจาก ชัยปุระ(Jaipur) แต่ด้วยระยะเวลาที่มีอยู่เพียงน้อยนิด แค่ 4 วัน จึงได้เพิ่มเมืองที่จะไปเยือนอีก 2 เมือง นอกจาก ชัยปุระ(Jaipur) นั่นก็คือ เมือง Jaisalmer และ เมือง Jodhpur
สรุป ในทริปนี้ จึงได้ไปเยือน 3 เมือง 3 สี แห่งรัฐราชาสถาน คือ Jaipur(นครสีชมพู), Jaisalmer(นครสีทอง) และ Jodhpur(นครสีฟ้า) ซึ่งจะได้ประสบการณ์อะไรแปลกใหม่ และสนุกสนานเฮฮา แค่ไหน ..ก็มาติดตามชมการเดินทางในทริปนี้กันได้เลยครับ!
เตรียมตัวไปลุย “อินเดีย” กัน!
เนื่องจากค่าครองชีพใน ประเทศอินเดีย ค่อนข้างที่จะต่ำ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวต่างๆ จึงค่อนข้างที่จะถูกมาก ผมจึงคิดที่จะจำกัดค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน ให้อยู่ในงบ 1,000 บาทไทย/วัน/คน อาจมีบวกได้นิดหน่อย ซึ่งผมก็คิดว่างบใช้จ่ายในแต่ละวันที่มีอยู่เพียงเท่านี้ ก็น่าจะเพียงพอ ใช้เที่ยวในอินเดียได้อย่างสบาย และ สามารถเที่ยวได้อย่างคุ้มค่าแน่นอน(ไม่รวมค่าเครื่อง และ ค่าวีซ่า) ซึ่งเอาจริงๆ แล้ว ทริปลุย 3 เมือง 3 สี แห่ง ราชาสถาน จะอยู่รอดมั้ย? ก็ต้องลองติดตามอ่านดูกันต่อไปนะครับ 55+
การเตรียมตัวออกเดินทาง
รายละเอียดก่อนออกเดินทางพอสังเขป..
- วีซ่าออนไลน์ สามารถยื่นขอวีซ่าออนไลน์ได้ 1,700 บาท ใช้เวลา 1-2 วัน
- แลกเงิน แนะนำแลกเงิน รูปี ตั้งแต่ไทยเลยเพื่อความสะดวก วิธีคิดค่าเงินก็ง่ายๆ เงินรูปี หารสอง ก็เท่ากับเงินบาท เช่น 100 รูปี เท่ากับ 50 บาท เป็นต้น
- จองตั๋วรถไฟ การเดินทางระหว่างเมือง การนั่งรถไฟก็ดูจะสะดวกดี แต่รถไฟชั้น 1 หรือ ชั้น 2 จะเต็มเร็วมากๆ ควรจองตั้งแต่เนิ่นๆ ล่วงหน้าหลายเดือนเลยแหละ
- จองที่พัก/จองทัวร์ทะเลทราย ไม่อยากเสียเวลาเดินหาที่พัก จองที่พักที่ถูกใจล่วงหน้าเอาไว้ก็ดีเนอะ
- ปลั๊กไฟ อย่าลืมเตรียม Adapter ไปด้วย
- ยาสามัญประจำบ้าน
- หน้ากากอนามัย ฝุ่นเยอะมากจริงๆ เยอะในทุกๆ ที่
- ทิชชู่เปียก ได้ใช้แน่นอน แถมเป็นสิ่งที่ได้ใช้เยอะที่สุดด้วย
- ประกันการเดินทาง ทำเอาไว้แล้วจะรู้สึกอุ่นใจจริงๆ
โปรแกรมการเดินทาง 3 เมือง 4 วัน (Jaipur – Jaisalmer – Jodhpur) มีดังนี้
- วันที่ 0 >> Bangkok – Jaipur
- วันที่ 1 >> Jaipur – Jaisalmer
- วันที่ 2 >> Jaisalmer
- วันที่ 3 >> Jaisalmer – Jodhpur – Jaipur
- วันที่ 4 >> Jaipur – Bangkok
สำหรับรายละเอียดการเดินทาง ก็เริ่มจาก สนามบินดอนเมือง เดินทางไปถึง ชัยปุระ (Jaipur) ในช่วงดึก แล้วนอนรอที่สนามบินให้เช้าก่อน จึงออกมาหารถเมล์เพื่อเข้าเมือง และด้วยการจองตั๋วรถไฟที่ค่อนข้างกระชั้นไปหน่อย จึงทำให้ได้เที่ยวรถไฟในเวลาที่ไม่ค่อยดีนัก ต้องมีการปรับแผนเที่ยวให้เข้ากับตารางรถไฟ ดังนั้น ถ้าอยากได้โปรแกรมเที่ยวที่ดูลงตัว แนะนำให้รีบจองตั้งแต่เนิ่นๆ นะครับ 55+ ซึ่ง วันแรก ต้องนั่งรถไฟยิงยาวไปเมือง Jaisalmer ในเวลา 11.10 น. ใช้เวลาในการเดินทาง 12 ชั่วโมง ก็เท่ากับว่า วันแรกก็ใช้เวลาบนรถไฟ ทั้งวันไปแล้ว ยังไม่ทันได้ทำอะไรเลย 55+
เมื่อถึงเมือง Jaisalmer ก็เข้าพักในโรงแรม รุ่งเช้า วันที่สอง ก็เดินเที่ยวในเมือง และ ในช่วงบ่าย ก็ออกไปขี่อูฐที่ทะเลทรายธาร์ และ นอนค้างกันที่กลางทะเลทราย แล้วกลับเข้าเมือง Jaisalmer ในเช้า วันที่สาม จากนั้นเดินทางย้อนกลับมายังเมือง Jodhpur แวะเที่ยวที่นี่สักเล็กน้อย ก่อนเดินทางกลับมายัง เมือง Jaipur ซึ่งใน วันที่สี่ วันสุดท้ายมีเวลาเหลือให้เที่ยว ในเมือง ชัยปุระ (Jaipur) ได้ทั้งวัน
ซึ่งแผนการเดินทางต่างๆ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม และตามความชอบ ของแต่ละคนนะครับ เพราะเมืองต่างๆ ในรัฐราชาสถานแห่งนี้ มีหลายเมืองที่น่าเที่ยวจริงๆ มีเสน่ห์ที่แตกต่างกันไป บางเมืองก็อยากใช้เวลาอยู่นาน หรือ บางเมืองแค่ได้แวะเที่ยวหน่อยก็โอเคแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคนไปครับ แต่ที่สำคัญอยากเน้นว่า.. จองตั๋วรถไฟตั้งแต่เนิ่นๆ จะดีมากครับ จะได้ไม่กระทบกับแผนเที่ยวที่วางเอาไว้ และเที่ยวได้อย่างสบาย มีเวลาที่ลงตัวครับ 55+
ออกเดินทางจาก กรุงเทพฯ สู่ ชัยปุระ (Jaipur)
เริ่มต้นการเดินทาง!
ทริปนี้.. ออกเดินทางกัน 2 คนครับ โดยได้นัดหมาย กันที่ สนามบินดอนเมือง ในช่วงหัวค่ำ มีเผื่อเวลาหาข้าวกินก่อนขึ้นเครื่องกันสักเล็กน้อย ซึ่งการเดินทางครั้งนี้.. ก็ได้ใช้บริการของ สายการบินแอร์เอเชีย ครับ บินตรง ไปลงที่เมือง ชัยปุระ (Jaipur) เลย(ทำการบิน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ทุกวันอังคาร,พุธ, ศุกร์ และ อาทิตย์) ด้วยเที่ยวบิน FD 130 ออกเดินทาง เวลา 21.30 น. ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง เท่านั้น และ เนื่องจากผมได้ทำการเช็คอินออนไลน์มาแล้ว ก็ต้องแวะมาตรวจเอกสารการเดินทาง และ โหลดสัมภาระ ที่เคาเตอร์อีกสักเล็กน้อย ใช้เวลาไม่นานก็ เตรียมตัวพร้อมบินแล้ว..
ผ่านขั้นตอนของ ตม. อย่างรวดเร็ว ก็เดินตัวปลิว เตรียมขึ้นเครื่อง ไป ชัยปุระ กัน
วันนี้เดินทางไกลหน่อย.. ก็เลยได้มีโอกาสได้นั่งแบบ Hot Seat พอให้มีที่วางเท้ากว้างขึ้นมาอีกนิด นั่งสบายๆ ได้งีบหลับพักผ่อนระหว่างที่เดินทาง
หลังจากออกเดินทางมาได้ไม่นาน พนักงานต้อนรับ ก็นำอาหารมาเสิร์ฟ ซึ่งได้ทำการสั่งจองล่วงหน้าเอาไว้แล้ว(สั่งไว้ล่วงหน้าประหยัดกว่านะ..รู้ยัง 55+) ซึ่งเมนูก็คือ ข้าวกะเพราไก่หม่อมหน่อย ทิ้งทวนมื้อสุดท้ายรสชาติแบบไทยๆ ก่อนที่จะไปเผชิญกับอาหารเครื่องเทศแบบจัดหนักในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า..
DAY #1 JAIPUR, INDIA.
นมัสเต.. “อินเดีย”
รู้สึกว่านั่งเครื่องแค่แป้บเดียว.. ก็มาถึงปลายทางที่ ชัยปุระ(Jaipur) ประเทศอินเดีย แล้ว เดินทางมาถึงเร็วกว่าที่คิดมาก มาถึงก็ต้องมีกรอกใบ ตม. เพิ่มอีกนิดหน่อย ไปยื่นพร้อมกับ E-Visa ที่ได้ขอออนไลน์เอาไว้ ก็ผ่านเข้าเมืองแล้วครับ
มาถึงที่นี่.. ก็ไม่ต้องเร่งรีบอะไรนัก เพราะ ช่วงเวลานี้ก็ประมาณตีสองอยู่เลย ยังมีเวลาเดินเล่น นั่งเล่น ในสนามบินอีกเยอะ รอเวลาเช้า ก็หามุมนั่งเล่นรอเวลาไปครับ ภายในสนามบินเจ้าหน้าที่ค่อนข้างเยอะ ปลอดภัยแน่นอน จะนั่งงีบหลับก็สบายใจได้ และอีกอย่างคนที่อยู่ข้างนอกจะไม่สามารถเข้ามาภายในอาคารสนามบินได้ครับ ถ้าเผลอเดินออกไปแล้ว จะกลับเข้ามาไม่ได้นะ.. ต้องนั่งรอข้างนอกไป
หรือ ถ้าหากใครไม่อยากมานั่งรอเช้า ก็สามารถนั่งรถแท็กซี่ไปหาโรงแรมในเมืองนอนสบายๆ ก็ได้ ซึ่งแท็กซี่ก็มีแบบจ่ายเงินก่อน มีเคาเตอร์ Pre-Paid อยู่ภายในสนามบิน จะลองติดต่อดูก่อนก็ได้..
ถ้ายังไม่ได้แลกเงินมาก็มีเคาเตอร์ให้แลกเงินภายในสนามบินด้วย..
นั่งรอไม่นานท้องฟ้าภายนอกก็เริ่มสว่างแล้วครับ ก็แบกเป้เดินออกมาจากตัวอาคารสนามบิน เพื่อที่จะ ไปหารถเมล์ เข้าเมืองกัน ซึ่งเดินออกมาจากป้อมยามรั้วสนามบินจะเห็นป้ายรถเมล์ป้ายหนึ่งอยู่ครับ เห็นเขาว่า.. สามารถรอรถเมล์ สาย 6A กันได้ตรงป้ายนี้ ก็นั่งรออยู่สักพักไม่เห็นมีรถเมล์ผ่านมาสักคัน ไม่รู้ว่ามารอเช้าไป หรือว่ายังไง? 55+ สุดท้าย ได้คำแนะนำจากคนอินเดียแถวนั้นว่า.. ให้เดินไปรอที่ตรงวงเวียน Jawahar Circle จะมีรถเมล์ผ่านหลายสายมากกว่า ซึ่งเราก็เดินไปอีกไม่ไกล ก็มาถึง Jawahar Circle ซึ่งตรงนี้ก็มีสถานที่สำคัญอย่าง Patrika Gate อีกด้วย
Patrika Gate ประตูเมืองลำดับที่ 9 ของ ชัยปุระ
ป้ายรถเมล์ บริเวณวงเวียนนี้ มีรถเมล์ผ่านหลายสายตามที่เขาบอกจริงๆ แหละครับ รถเยอะมากๆ เริ่มได้บรรยากาศของความวุ่นวายแล้ว..สินะ! เสียงแตรรถที่บีบใส่กัน แบบไม่มีทีท่าจะยอมแพ้กัน จากจุดนี้.. เข้าสู่ตัวเมืองอีกราว 10 กิโลเมตร ตามความรู้สึก.. มายืนรอฝั่งนี้ เหมือนว่าทุกสาย จะเข้า เมืองหมดนะ สังเกตุสายที่ผ่านมาบ่อยๆ อย่าง 3A หรือ AC1-2 ส่วน 6A ที่คิดว่า..เข้าเมืองชัวร์สุด รอตั้งนานไม่มีผ่านมาเลย..
สุดท้ายเราก็เลือก.. สาย AC-2 เป็นรถแบบปรับอากาศ ที่ไม่มีความเย็นแม้แต่น้อย.. บนรถรับคนอัดขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ จนประตูแทบจะปิดไม่ได้ กระเป๋ารถเมล์เอ่ยถามขึ้นมาว่า “จะไปลงที่ไหน?” ด้วยความที่.. กะว่า จะเปิดกูเกิ้ลแมพ แล้วจะกดกริ่งลงตรงใกล้สถานที่สำคัญที่สุด ก็เลยตอบไปแบบกว้างๆ ว่า.. “ลง Pink City นะนายจ๋า…” พร้อมเก็บตังค์ไป 30 รูปี คิดเป็นเงินไทย ก็ประมาณ 15 บาท ถูกดีแฮะ.. ประหยัดตังค์ดี แต่..ไม่ประหยัดความเร็วนะ เพราะพี่คนขับแกโคตรซิ่งมากๆ หักหลบรถที่สวนมาบ้าง หักหลบวัวบ้าง เป็นอะไรที่บันเทิงดี 55+
พอเริ่มเข้าสู่เขตเมือง ผู้โดยสารบนรถก็เริ่มเบาบางลง หลังจากรถเมล์เลี้ยวเข้าถนน MI Road กระเป๋ารถตะโกนมาจากข้างหลังรถว่า “Pink City” เป็นการส่งสัญญาณให้คนไทยแบกเป้สองคนที่ยืนงงๆ คอยชะเง้อมองมองนอกหน้าต่างตลอดทาง ให้ลงตรงนี้ได้เลย..
จุดที่เราลงรถเมล์มานี้ เป็น Ajmeri Gate เหมือนประตูทางเดินเข้าไปสู่ใจกลางเมืองสีชมพูแห่งนี้
เรามีเวลาเดินเล่นในช่วงเช้าอีกพอสมควร ก่อนที่จะไปรอขึ้นรถไฟในเวลา 11.10 น. ซึ่งในช่วงนี้.. ก็เลยมีเวลาเดิมชมบรรยากาศอาคารบ้านเรือนของเมืองนี้ แบบไม่รีบร้อน.. ระหว่างที่เดินเล่นชมเมือง ก็จะได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่นี่ด้วย
และ ก็เดินมาจนถึงสถานที่สำคัญ ถือเป็นแลนด์มาร์กของที่นี่เลย นั่นก็คือ พระราชวังสายลม(Hawa Mahal) อาคาร 5 ชั้น สร้างด้วยหินทรายแดง สถาปัตยกรรมสไตล์เปอร์เซียผสมโมกุล มีช่องหน้าต่าง 152 ช่อง เอาไว้สำหรับให้นางสนมในวังใช้ส่องชีวิตของผู้คนภายนอก
อันที่จริง.. ที่แวะมาที่นี่ก่อน ก็เพราะว่าจะมาหามื้อเช้ากินแถวๆ นี้อยู่แล้วครับ และก็ได้ข้อมูลมาว่า.. ร้านอาหารที่อยู่ชั้นดาดฟ้าตึกตรงข้ามกับ Hawa Mahal บรรยากาศดี เห็นวิวของ Hawa Mahal ในมุมมองที่สวยงาม ก็เลยถือโอกาสมาจัดการมื้อเช้า พร้อมกับการเก็บภาพของ Hawa Mahal ในมุมสูงไปในตัวด้วย ซึ่งร้านอาหารที่อยู่ตรงข้ามกับ Hawa Mahal มีอยู่ 2 ร้าน คือ Wind View Cafe และ Tattoo Cafe สำหรับเราเลือกมานั่ง Wind View Cafe เพราะ ตอนนั้นในร้านไม่มีคนเลย ก็เลยดูเป็นส่วนตัวดี และ ในส่วนของเมนูอาหารต้องบอกว่า สั่งมั่วมากๆ 55+ ซึ่งจานนี้ น่าจะเป็นเมนู Noodle Masala เหมือนเส้นมาม่าผัดกับ Masala ใส่พริกหยวก รสชาติออกจัดหน่อยๆ แต่ก็ถือว่า..โอเค และ ไว้ใจในเรื่องความสะอาดได้ในระดับหนึ่งครับ
สั่ง Chai Tea ชานมแบบอินเดีย มาเพิ่ม เสิร์ฟมาในแก้วดินเผา ซึ่งคนอินเดียเขามักจะนิยมจิบ Chai Tea กันครับ จะเห็นร้านเล็กๆ ขายชากันเพียบเลย อยู่แทบทุกซอกทุกมุมของเมือง รสชาติของ Chai Tea ก็จะหอมกรุ่น ได้กลิ่นของเครื่องเทศนิดๆ จิบแล้วรู้สึกโล่งคอ เอาเป็นว่า “ชอบ” เลยละครับ
เป็นมื้อเช้าที่รู้สึกชิลดีครับ แม้..บรรยากาศท้องถนนด้านล่างการจราจรจะวุ่นวายไปสักหน่อย แต่ข้างบนนี้..มันก็โอเคดี นั่งกินมื้อเช้า จิบ Chai Tea พร้อมชมวิวเพลินๆ สรุปมื้อนี้.. หมดไป ประมาณ 100 บาท อิ่ม.. และได้วิวระดับเทพ!
Chai Tea ในแก้วดินเผาสีแดงอิฐ สีสันดูกลมกลืนกันดี กับ Hawa Mahal ที่อยู่เบื้องหลัง
วิวบรรยากาศของ Hawa Mahal จาก Wind View Cafe
หลังจากจัดการมื้อเช้ากันเรียบร้อยแล้ว.. ก็ถึงเวลาที่ต้องไปขึ้นรถไฟที่ สถานีรถไฟ Jaipur ครับ จาก Hawa Mahal ได้ลองเรียกรถสามล้อรับจ้าง หรือ ที่เรียกว่า.. Rickshaw ให้ไปส่งที่สถานีรถไฟ ค่าโดยสาร ต่อรองได้ที่ 100 รูปี เป็นเงินไทย 50 บาท ตกคนละ 25 บาท ไม่รู้ว่าถูกหรือแพงนะ? แต่.. ราคานี้ สำหรับเราถือว่าโอเคแล้วครับ เพราะกว่าจะไปถึงสถานีรถไฟ ระยะทางก็พอสมควรเหมือนกัน..
นั่งรถไฟไปทะเลทราย.. จาก Jaipur สู่ Jaisalmer
มาถึง.. สถานีรถไฟ Jaipur ก่อนเวลาเล็กน้อย เนื่องจากได้จองตั๋วรถไฟมาล่วงหน้าแล้ว สามารถ Print ตั๋ว เอามาไว้ใช้ได้เลย ไม่ต้องไปแลกตั๋วใดๆ ทั้งสิ้น สะดวกดีครับ ประหยัดเวลา ไม่ต้องมารอต่อแถวซื้อ มีตั๋วเอาไว้เดินทางแน่นอน..
สถานีรถไฟ เป็นอะไรที่วุ่นวายแบบสุดๆ ก่อนอื่นต้องหาชานชาลาของตัวเองให้เจอเสียก่อน เดี๋ยวจะไปรอผิดชานชาลา และ ตกรถไฟได้ ซึ่งของเราก็มีประกาศเปลี่ยนชานชาลาตั้ง 2 รอบ ก็ต้องแบกกระเป๋าย้ายชานชาลาไปมา และ แน่นอนว่า.. รถไฟดีเลย์!!
รถไฟมาช้ากว่าเวลาปกติราวครึ่งชั่วโมง ซึ่งก็เป็นอะไรที่ยอมรับได้.. เราเดินขึ้นขบวนรถไฟ และ หาที่นั่งประจำตัวของตัวเอง ซึ่งตั๋วที่ได้จองล่วงหน้านั้นเป็น ชั้น AC2 ราคาค่าโดยสารประมาณ 700 บาทไทย (ชั้น 2 นอน แบบปรับอากาศ) ภายในก็ดูเก่าตามสภาพการใช้งาน แอร์เย็นมาก มีเตียงนอนเป็นแบบเตียง 2 ชั้น เมื่อนั่งสักพักจะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจตั๋ว ก็ยื่นตั๋วไปกับ Passport ไปให้เจ้าหน้าที่เขาตรวจครับ จากนั้น.. เจ้าหน้าที่ก็จะ นำหมอน และผ้าห่มบางๆ มาให้
จาก Jaipur ไป Jaisalmer ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 12 ชั่วโมง ไปถึงปลายทางก็น่าจะราวเที่ยงคืน ในช่วงเวลานี้ก็เลยดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรทำ ได้แต่นั่งเล่น นอนเล่น มองชมวิวนอกหน้าต่าง.. และ พูดคุยกับคนอินเดีย ที่ร่วมเดินทางไปพร้อมกันในขบวนนี้
บนรถไฟ จะมีบริการอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม เดินขายผ่านไป ผ่านมาแบบรถไฟบ้านเราเลย ซึ่งที่อุดหนุนซื้อบ่อยๆ ก็ Chai Tea นี่แหละครับ ยกกามารินขายกันเลย แก้วละ 10 รูปี ก็.. 5 บาทไทย จิบร้อนๆ นั่งชมเพลินๆ ครับ นั่งรถไฟอินเดียนี่มันก็รู้สึกสนุกเหมือนกันนะ มีอะไรให้ดู มีอะไรให้เห็น ไม่เบื่ออย่างที่คิดเลย..
สำหรับอาหารเย็น จะมีเจ้าหน้าที่รถไฟมาคอยเดินถามครับ ว่าจะรับอาหารเย็นมั้ย? ซึ่งถ้ารับเขาก็จะจดเอาไว้ และ จะนำอาหารมาส่งตามเวลาที่นัดหมายครับ (ชวนให้นึกถึงหนังเรื่อง The Lunchbox เลย) ซึ่งเราก็ได้นัดให้เขานำมาให้ตอน 1 ทุ่ม ก็นำมาส่งได้ตรงเวลาเป๊ะมาก เป็นอาหารแบบปิ่นโต ที่ไม่รู้ว่าข้างในมีอะไรบ้าง 55+ พร้อมกับจ่ายไป คนละ 130 รูปี หรือ 65 บาท
ลองเปิดมาดูข้างในปิ่นโตกัน.. มีกับข้าวอยู่ 2 อย่าง พร้อม ข้าวสวย และ แผ่นแป้ง ในส่วนของกับข้าวกลิ่นเครื่องเทศนี่แรงมากๆ แต่..ก็พอกินได้อยู่ครับ กินกับข้าวสวยที่มีรสเค็มนิดๆ และ แผ่นแป้งที่เลือกกินเฉพาะแผ่นในๆ เพราะว่ากลัวหมึกจากหนังสือพิมพ์ที่เขาห่อมา 55+ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็พอกินได้ครับ แม้..จะไม่ถูกปากสักเท่าไรนัก และ..ยังดี ที่ซื้อกล้วยหอมหน้าสถานีรถไฟติดไม้ติดมือไว้ขึ้นมาเป็นเสบียงด้วย ก็ช่วยให้อิ่มท้องได้..
เผื่อใครอยากเห็น สภาพห้องน้ำบนรถไฟ(ชั้น AC2) มันก็จะประมาณนี้..
และแล้ว.. รถไฟก็เดินทางมาถึง สถานี Jaisalmer เป็นที่เรียบร้อย มาถึงก็เป็นเวลาที่ค่อนข้างดึกมาก ดีที่..ได้จองที่พักล่วงหน้าเอาไว้ และ ทางที่พักก็ส่งคนมารอรับที่สถานีรถไฟด้วย มันก็รู้สึกสะดวกดีครับ เพราะ.. เมื่อตอนที่เรามาถึงนั้น เดินออกมาจากชานชาลาไม่กี่ก้าว ก็มีญาติพี่น้อง มารอรับเพียบเลย 55+ ทั้งล้อมหน้าล้อมหลังแทบจะหาทางเดินไม่ได้ ซึ่งพอมีคนมารอรับ มันก็สะดวกขึ้นเยอะ ยิ่งดึกๆ มืดๆ ลงรถไฟมาใหม่ๆ กำลังเอ๋อๆ หลงทิศอยู่พอดีเลย
เราขึ้นรถสามล้อ Rickshaw ที่มารอรับ ไปยังที่พักที่ได้จองเอาไว้ล่วงหน้าครับ ชื่อ Hotel Sanjay Villas ซึ่งราคาค่าห้องอยู่ที่ 1,000 รูปี (รวมอาหารเช้า) เท่ากับ 500 บาท ตกคนละ 250 บาท และ เราก็ได้จองทัวร์ไปนอนทะเลทรายสำหรับวันพรุ่งนี้ กับทางที่พักไว้ด้วย ได้มา ราคาคนละ 900 บาทไทย (รวมรถรับส่งจากโรงแรมไปทะเลทราย, ขี่อูฐ, นอนทะเลทราย, อาหาร 2 มื้อ เย็น-เช้า และ โชว์การแสดง) ..ก็ถือว่าคุ้มค่าดีครับ
เมื่อนัดหมายอะไรเรียบร้อย ก็เป็นอันจบสิ้นภารกิจสำหรับวันแรกนี้ครับ ได้เวลานอนพักผ่อนเอาแรงไว้ลุยพรุ่งนี้กันต่อไป..
ติดตามอ่านตอนต่อไปได้ที่ >> Jaisalmer : จัยซัลแมร์ Golden City (นครสีทอง)
ปล. การเดินทางในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 4 ตอน คือ
- 3 เมือง 3 สี แห่ง ราชาสถาน อินเดีย(เตรียมตัวเดินทาง)
- Jaisalmer : จัยซัลแมร์ Golden City (นครสีทอง)
- Jodhpur : จ๊อดปูร์ Blue City (นครสีฟ้า)
- Jaipur : ชัยปุระ Pink City (นครสีชมพู)
*ชัยปุระ (Jaipur) ปัจจุบัน สามารถเดินทางไปได้ง่าย ด้วยเส้นทางบินตรง จากสายการบินแอร์เอเชีย ราคาประหยัด เดินทางสะดวกสบาย รวดเร็ว ใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้น
#ไปชัยปุระไปกับแอร์เอเชีย
#AirAsiaTravels #AirAsia
#CHAILAIBACKPACKER
การท่องเที่ยวเชิงไฉไล | CHAILAIBACKPACKER
Fanpage : https://www.facebook.com/chailaibackpacker
Instagram : CHAILAIBACKPACKER
Twitter : @chailaibackpack / goo.gl/VIBXC9
E-mail : chailaibackpacker@gmail.com
Website : www.chailaibackpacker.com