EP1/2 #นมัสเตอินเดีย :: คยา – พาราณสี แสวงบุญที่ “อินเดีย” ง๊ายง่าย นอนวัดไทยพุทธคยา!
#แสวงบุญที่อินเดียง๊ายง่าย กินข้าววัด นอนวัดไทย อิ่มใจ อิ่มบุญ.. “แสวงบุญที่อินเดีย” …ไม่ยาก ใครๆ ก็ไปได้ สักครั้งในชีวิตสู่ดินแดนพุทธภูมิ
- EP 1/2 GAYA : แสวงบุญที่ “อินเดีย” ง๊ายง่าย ตอน คยา
- EP 2/2 VARANASI : แสวงบุญที่ “อินเดีย” ง๊ายง่าย ตอน พาราณสี
ไป.. “อินเดีย” ครั้งนี้ เราจะไป.. แสวงบุญกันครับ จากที่เมื่อก่อนเคยได้ยินคำว่า.. “ไปแสวงบุญอินเดีย” ผ่านหูอยู่บ้าง ซึ่งฟังแล้วเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัวอยู่สักหน่อย ทั้งเรื่อง การเดินทาง การอยู่ การกิน ที่คิดไปเองว่า.. คงดูลำบากเกินไป แต่.. พอได้ออกเดินทางไปสัมผัสด้วยตัวเองแล้ว ก็เป็นอันต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะ การไปแสวงบุญที่อินเดียนั้น ง่ายกว่าที่คิดเยอะเลยครับ
GAYA : VARANASI
ทริปนี้.. เราออกเดินทางสู่ ประเทศอินเดีย โดยมีจุดหมายอยู่ที่เมือง คยา(Gaya) และ พาราณสี(Varanasi) เมืองสำคัญทั้งของศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู เพราะเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ทั้งของพระพุทธศาสนา และศาสนาฮินดู ปัจจุบันเดินทางไปได้ง่าย เพราะมีเที่ยวบินตรงลง คยา(Gaya) อย่าง สายการบินแอร์เอเชีย ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางแค่ 3 ชั่วโมง เท่านั้น
และ ความพิเศษของการเดินทางของเรา คือ ได้มีโอกาสเข้าพักที่ “วัดไทยพุทธคยา” วัดไทยในอินเดียที่เปิดให้ผู้แสวงบุญได้เข้ามาพักภายในวัดได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทางวัดจะมีการจัดห้องพักให้ พร้อมกับอาหาร 3 มื้อ ซึ่งอยากบอกว่า.. พักในวัดไทยนอนสบายจริงๆ แถมอาหารของวัดก็รสชาติแบบไทยๆ อร่อยถูกปากอีกด้วย
เดี๋ยวเราจะพาเดินทางเข้าไปใกล้จุดกำเนิดของพระพุทธศาสนา จะว่าไปแล้ว.. ก็รู้สึกตื่นเต้นอยู่ไม่น้อย สำหรับประสบการณ์ใหม่ๆ ในครั้งนี้ครับ ..ลองมาติดตามชม ทริปแสวงบุญที่อินเดียทริปนี้กันครับ!
เตรียมตัวไปลุย “อินเดีย” กัน!
“อินเดีย” ครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก! หลายๆ อย่างก็พอได้ประสบการณ์จากครั้งก่อนมาบ้างแล้ว การเตรียมตัวสำหรับเรา จึงไม่มีอะไรมากนัก แค่เตรียมวางแผนการเดินทางตั้งแต่เนิ่นๆ เท่านั้นเอง
การเตรียมตัวออกเดินทาง รายละเอียดก่อนออกเดินทางพอสังเขป
1. วีซ่าออนไลน์ สามารถยื่นขอวีซ่าออนไลน์ได้ ใช้เวลา 1-2 วัน เท่านั้น
- Visa ท่องเที่ยว อายุ 30 วัน = 25 USD (760 บาท) เข้า/ออก ได้ 2 ครั้ง
- Visa ท่องเที่ยว อายุ 1 ปี = 40 USD (1,220 บาท) เข้า/ออก ได้ไม่จำกัด
- Visa ท่องเที่ยว อายุ 5 ปี = 80 USD (2,440 บาท) เข้า/ออก ได้ไม่จำกัด
2. แลกเงิน แนะนำแลกเงิน รูปี ตั้งแต่ไทยเลยเพื่อความสะดวก วิธีคิดค่าเงิน ก็ง่ายๆ เงินรูปี หารสอง ก็เท่ากับเงินบาท เช่น 100 รูปี เท่ากับ 50 บาท เป็นต้น
3. INTERNET SIM เพื่อความสะดวกหาซื้อจากไทยไปได้เลย
4. จองตั๋วรถไฟ การเดินทางระหว่างเมือง การนั่งรถไฟก็ดูจะสะดวกดี แต่รถไฟชั้น 1 หรือ ชั้น 2 จะเต็มเร็วมากๆ ถ้าอยากได้เวลาดี ควรจองตั้งแต่เนิ่นๆ ล่วงหน้าหลายเดือนกันเลย
5. จองที่พัก ถ้าจะนอน วัดไทยพุทธคยา ต้องจองที่พักล่วงหน้านะ
6. ปลั๊กไฟ อย่าลืมเตรียม Adapter ไปด้วย ที่อินเดียใช้แบบหัวกลม (บางโรงแรมก็อาจมีให้ยืม แต่..เอาไปเองดีกว่าครับ)
7. ยาสามัญประจำบ้าน
8. หน้ากากอนามัย
9. ทิชชู่เปียก
10. ประกันการเดินทาง ทำเอาไว้แล้ว เพื่อความอุ่นใจครับ (ซึ่ง แอร์เอเชีย ก็มีบริการประกันการเดินทาง สามารถซื้อพร้อมตอนจองตั๋วได้เลย ราคาไม่แพง ประมาณ 300 กว่าบาท เท่านั้นครับ)
โปรแกรมการเดินทาง ไปแสวงบุญ 5 วัน 4 คืน (Gaya – Varanasi) มีดังนี้
- วันที่ 1 >> Bangkok – Gaya
- วันที่ 2 >> Gaya
- วันที่ 3 >> Gaya – Varanasi
- วันที่ 4 >> Sarnath – Gaya
- วันที่ 5 >> Gaya – Bangkok
สำหรับรายละเอียดการเดินทาง ทริปแสวงบุญนี้ มีสมาชิกร่วมออกเดินทางทั้งหมด 2 คน มีเวลา 5 วัน 4 คืน เริ่มต้นเดินทาง จาก สนามบินดอนเมือง สู่ เมืองคยา(Gaya) ประเทศอินเดีย ด้วย สายการบินแอร์เอเชีย ซึ่งเดินทางถึงปลายทาง คยา(Gaya) ในเวลา 10.30 น. แล้วเข้าพักที่ วัดไทยพุทธคยา เรามีเวลาอยู่ที่เมืองนี้ 2 วัน จากนั้น จึงเดินทางด้วยรถไฟไปยัง พาราณสี(Varanasi) และวันถัดไปก็แวะไป สารนาถ(Sarnath) อีกเมืองละวัน
สรุป ได้เก็บ 2 ใน 4 สังเวชนียสถาน(สถานที่ ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน) คือ พุทธคยา(สถานที่ตรัสรู้) และ สารนาถ(สถานที่แสดงปฐมเทศนา) ซึ่งจะว่าไปแล้ว.. ก็เป็นโปรแกรมการเดินทางที่ ดูหลวมๆ สบายๆ ไม่เร่งรีบจนเกินไปนัก ได้ใช้เวลาในแต่ละสถานที่ได้คุ้มค่าดีครับ
ออกเดินทางไป.. แสวงบุญ!
จาก “กรุงเทพฯ” สู่ “คยา” (Gaya)
เริ่มต้นการเดินทาง! เราออกเดินทางกัน 2 คน โดยได้นัดหมายกันที่ สนามบินดอนเมือง ในช่วงเช้า มีเผื่อเวลาหามื้อเช้ากินก่อนขึ้นเครื่องกันสักเล็กน้อย ซึ่งการเดินทางครั้งนี้.. ก็ได้ใช้บริการของ สายการบินแอร์เอเชีย ครับ บินตรง ไปลงที่เมือง คยา(Gaya) ประเทศอินเดีย (บินตรงทุกวัน) ด้วยเที่ยวบิน FD 122 ออกเดินทาง เวลา 08.30 น. ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง เท่านั้น และ เนื่องจากผมได้ทำการเช็คอินออนไลน์มาแล้ว ก็ต้องแวะมาตรวจเอกสารการเดินทาง และ โหลดสัมภาระ ที่เคาเตอร์อีกสักเล็กน้อย ใช้เวลาไม่นานก็ เตรียมตัวพร้อมบินแล้ว.. ใครๆ ก็ไปแสวงบุญได้ ไปง่ายๆ ในราคาสุดคุ้มกับ แอร์เอเชีย ครับ
- FD 122 : DMK – GAY / 08.30 – 10.30
- FD 123 : GAY – DMK / 10.40 – 14.50
ทั้งนี้.. ถ้าใครตั้งใจที่จะไปทั้งเมือง “คยา” และ “พาราณสี” ก็สามารถวางแผนการเดินทางได้ โดยจะบินจากไทยลงที่ “คยา” แล้วกลับไทยจาก “พาราณสี” หรือบินจากไทยลงที่ “พาราณสี” แล้วกลับไทยจาก “คยา” ก็สามารถทำได้ เดินทางสะดวกสบาย ประหยัดเวลา ไม่ต้องเดินทางย้อนไปย้อนมาครับ!
- กรุงเทพฯ – คยา (บินตรงทุกวัน) ตั้งแต่ 28 ตุลาคม 2562 – 27 มีนาคม 2563
- กรุงเทพฯ – พาราณสี (4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ : วันจันทร์ พุธ ศุกร์ เสาร์) เริ่มบิน 14 มกราคม 2562
ได้เวลาออกเดินทาง.. วันนี้ ท้องฟ้าสดใส ดีครับ
จากนั้น พนักงานต้อนรับ ก็นำอาหารมาเสิร์ฟ ซึ่งได้ทำการสั่งจองล่วงหน้าเอาไว้แล้ว (ถ้าใครอยากประหยัดต้องลองสั่งอาหารล่วงหน้านะครับ อิอิ!) ซึ่งเมนูสำหรับมื้อเช้าวันนี้ ก็คือ ข้าวไก่ทอดซอสเกาหลี อร่อยดีครับ กินหมดเกลี้ยง แม้จะกินข้าวอิ่มมาก่อนขึ้นเครื่องก็ตาม 55+
ใครใช้บริการ สายการบินแอร์เอเชีย ในช่วงนี้ ต้องไม่พลาด “ชานมไข่มุก” ครับ! ชานมหอมละมุน มีไข่มุกรูปทรงเพชรเม็ดเล็ก เคี้ยวหนึบๆ รสชาติกลมกล่อมดี ในราคา 75 บาท หาซื้อได้บนเครื่องเท่านั้นนะ บางเที่ยวบินขายดีจนหมดแล้วก็มี ของเขาดีจริงต้องลองครับ!
นั่งเคี้ยวไข่มุกเพลินๆ ไม่นานก็เดินทางมาถึง สนามบินคยา(Gaya Airport) ครับ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมงเท่านั้นเอง!
เข้าพักวัดไทยในอินเดีย กินอิ่ม หลับสบาย ที่.. “วัดไทยพุทธคยา”
เมื่อเดินทางมาถึง สนามบินคยา(Gaya Airport) ก็ต้องผ่าน ตรวจคนเข้าเมือง ของที่นี่กันก่อนครับ ซึ่งเขาค่อนข้างที่จะตรวจเข้มมาก จึงใช้เวลาพอสมควร ร่วมชั่วโมงได้ จากนั้น ก็เรียก แท็กซี่ ให้ไปส่งที่ วัดไทยพุทธคยา สามารถหาแท็กซี่ได้ที่หน้าสนามบินนั่นแหละครับ แค่เดินออกนอกอาคารสนามบินเดี๋ยวก็มีคนเข้ามาติดต่อเอง ก็ต่อรองราคาไปครับ ควรอยู่ที่ราคาไม่เกิน 700-800 รูปี จาก สนามบิน ไป วัดไทยพุทธคยา ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 15 นาทีก็ถึงแล้วครับ
วัดไทยพุทธคยา ถือเป็นวัดไทยแห่งแรกในประเทศอินเดีย เป็นวัดที่อยู่ในความดูแลและอุปถัมภ์ของรัฐบาลไทย ซึ่งเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 มีเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ ภายในวัด มีพระอุโบสถที่จำลองแบบมาจาก วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ภายในพระอุโบสถมี “พระพุทธชินราช” เป็นองค์พระประธาน และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม เมื่อเดินเข้ามาในเขตวัดแล้ว ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ที่ประเทศไทยเลยครับ
ภายในมี ต้นโพธิ์ ที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกเมื่อปี 2530
สำหรับการจองที่พัก “วัดไทยพุทธคยา” นั้น จะเปิดให้ผู้แสวงบุญเข้าไปพักภายในวัดได้ โดยมีการจัด ห้องพัก พร้อมอาหารวันละ 3 มื้อ ให้กับผู้แสวงบุญ ซึ่งการจะเข้าพักก็ต้องมีการจองล่วงหน้าก่อนครับ สามารถติดต่อขอเข้าพัก ได้ทางอีเมล์ bodhinayok980@gmail.com
เมื่อทางวัดได้รับอีเมล์ของเราแล้ว ก็จะส่งแบบฟอร์มกลับมาให้เรากรอกรายละเอียด เช่น ชื่อ เพศ จำนวนผู้เข้าพัก จำนวนวันเข้าพัก จำนวนมื้ออาหาร และรายละเอียดอื่นๆ เราก็กรอกให้เสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ แล้วส่งกลับไปให้ทางวัดอีกครั้งครับ ซึ่งขั้นตอนในการติดต่ออีเมล์อาจจะใช้ระยะเวลานานหน่อยนะครับ เพราะต้องเข้าใจว่าทางวัดก็มีภารกิจมากมายครับ อาจจะต้องใช้เวลาในการตอบอีเมล์หน่อย ดังนั้น ควรติดต่อจองตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนเดินทางนะครับ
ปล. การเข้าพักใน วัดไทยพุทธคยา สามารถเข้าพักได้สูงสุด 3 วัน เนื่องจากต้องแบ่งห้องพักให้กับผู้แสวงบุญท่านอื่นๆ ได้มีโอกาสเข้ามาพักด้วย ทั้งนี้ ผู้แสวงบุญที่เข้ามาพักสามารถที่จะทำบุญให้กับทางวัดได้ตามศรัทธาครับ
เมื่อลงจากแท็กซี่ ที่เข้ามาส่งถึงภายในวัด เราก็แบกเป้ เข้าไปติดต่อเรื่องห้องพัก ที่ได้ทำการจองเอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น จากแม่ชีที่ได้ดูแลงานในส่วนนี้ครับ แม่ชีท่านได้ให้คำแนะนำเรื่องต่างๆ เป็นอย่างดี ระหว่างที่เราเข้าพักที่วัดแห่งนี้ครับ
เราจะเข้าพักที่ อาคารพุทธชยันตี ครับ เป็นอาคาร 3 ชั้น ที่ภายในมี ห้องพัก สำหรับผู้มาแสวงบุญ
ห้องพัก ของเราอยู่ที่ชั้น 3 ห้อง 910 มีกุญแจที่พวงกุญแจเป็นไม้รูปใบโพธิ์สวยงามดีครับ เดี๋ยวจะพาเข้าไปชมบรรยากาศในห้องกัน
เปิดประตูเข้าห้องมา เรารู้สึก.. ว้าววว มาก! คือ ห้องพัก สะอาด น่าอยู่ เกินที่คาดหวังไว้จริงๆ ซึ่ง ภายในห้องพัก ก็มี 2 เตียง สำหรับเข้าพัก 2 คน มีพัดลม และ ห้องน้ำในตัว แต่อุปกรณ์อื่นๆ อย่างเช่น ผ้าเช็ดตัว สบู่ แชมพู ต้องนำมาเองนะครับ
“อู่ข้าว” เป็นครัว และ โรงทานของทางวัด ที่ผู้แสวงบุญสามารถเข้ามาทานอาหารได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งตอนนี้ก็ได้เวลาทานอาหารกลางวันพอดี หลังจากเข้าห้อง เก็บสัมภาระเรียบร้อย เราก็ลงมาทานอาหารกลางวันกันครับ..
เวลารับประทานอาหาร จะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ
- เช้า : เวลา 07.00 น. – 08.00 น.
- กลางวัน : เวลา 12.00 น. – 13.00 น.
- เย็น : เวลา 18.00 น. – 19.00 น.
การรับประทานอาหารใน อู่ข้าว จะเป็นแบบบริการตัวเอง สามารถตักอาหารเองได้ เติมได้แบบบุฟเฟ่ต์
มีโต๊ะไว้สำหรับนั่งรับประทานอาหาร เพียงพอต่อผู้มาแสวงบุญ บางมื้อคนเยอะ บางมื้อคนน้อย ก็แตกต่างกันไปในแต่ละวันครับ
หน้าตา เมนูอาหาร ใน อู่ข้าว ครับ จากภาพ เป็นมื้อกลางวัน มื้อแรกที่เข้ามาพักใน วัดไทยพุทธคยา ครับ ซึ่งเมนูอาหารจัดเต็มมากจากฝีมือของแม่ครัวคนไทย จะมีกับข้าว 4 อย่าง ต้มยำกุ้ง, แกงเขียวหวาน, แกงส้ม และ ไข่เจียว ให้ลองสังเกตุ ต้มยำกุ้ง ครับ กุ้งเป็นกุ้งจริงๆ แถมรสชาติอร่อยถูกปากด้วย
เราพักอยู่ที่ วัดไทยพุทธคยา 2 วัน ฝากท้องที่ อู่ข้าว ไปทั้งหมด 5 มื้อ ครับ เมนูอาหาร ก็จะมีการเปลี่ยนไปทุกวัน บางมื้อเป็นข้าวต้ม บางมื้อเป็นโจ๊ก หมุนเวียนกันไปครับ แต่..รับรองอร่อยทุกมื้อจริงๆ นะ!
“อู่น้ำ” จะเป็นส่วนของการบริการเครื่องดื่มต่างๆ อย่างเช่น ชา กาแฟ รวมไปถึงของที่ระลึกต่างๆ จากทางวัด ซึ่งผู้แสวงบุญสามารถเข้ามาใช้บริการได้ โดยสามารถมานั่งพัก หาเครื่องดื่ม หาขนมขบเคี้ยวทาน เป็นการบริการตัวเอง “หยิบหยอด” ชำระเงินด้วยการหยอดลงตู้บริจาค ครับ (เปิดบริการ 08.00 น. – 20.30 น.)
อู่น้ำ ถือเป็นพื้นที่สำหรับการนั่งพักอย่างดีเลยครับ หลังจากที่ออกไปนอกวัด เหนื่อยๆ กลับมา ผมก็ต้องแวะมานั่งพัก มาหาอะไรกิน ที่ อู่น้ำ ก่อนเสมอ มีมุมสงบจิบกาแฟ หลบความวุ่นวายจากข้างนอกได้เป็นอย่างดีเลย
บริเวณหน้า อู่น้ำ จะมีรถเข็นเล็กๆ บริการ ชาจาย กาลัม-จาย ชานมหอมเครื่องเทศแบบฉบับอินเดีย มาลองแวะดื่มฟรีกันได้ หอม อร่อย กลมกล่อม จนต้องขอเพิ่มเลยทีเดียว..
“อู่ทรัพย์” อาคารสำหรับรับบริจาคของงวัด ถ้าอยากทำบุญกับทางวัด สามารถเข้าไปติดต่อได้ครับ
“ร้านอาหารตักบาตร 935” ร้านอาหารที่อยู่ใน วัดไทยพุทธคยา ถ้าใครไม่สามารถทานอาหารได้ตามช่วงเวลาของ อู่ข้าว ก็มาหาอะไรทานที่ร้านนี้ได้ครับ โดยจะมีเมนูอาหารแบบไทยๆ อย่างเช่น กะเพราไก่ ไก่ทอดกระเทียมพริกไทย ก๋วยเตี๋ยว ผัดไทย เป็นต้น รสชาติถูกปาก ราคาไม่แพง (เปิดบริการ 08.00 น. – 20.00 น.)
“โรงพยาบาลพระพุทธเจ้า” โรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ใน วัดไทยพุทธคยา เปิดรักษาฟรีให้กับพระภิกษุสงฆ์ และผู้แสวงบุญจากทั่วโลก ใครมาแสวงบุญที่วัด หากเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่สบาย หายห่วงได้เลยครับ
และ ในทุกวัน วัดไทยพุทธคยา จะมี การทำวัตรเช้า(06.00 น. – 07.00 น.) และ ทำวัตรเย็น(19.00 น. – 20.00 น.) ภายในอุโบสถของวัด ซึ่งเราก็มีโอกาสได้เข้าปฎิบัติธรรม ร่วมสวดมนต์กับพระภิกษุสงฆ์ และ ผู้แสวงบุญท่านอื่นๆ ช่วยให้จิตใจรู้สึกสบายผ่อนคลายได้เยอะเลยครับ
ต้นพระศรีมหาโพธ์ ณ มหาเจดีย์พุทธคยา
พาไปเปิดหูเปิดตานอกรั้ววัดกันบ้าง! หลังจากที่พาไปแสวงบุญชมบรรยากาศภายใน วัดไทยพุทธคยา กันแล้ว เราก็ขอพาไปแสวงบุญนอกวัดกันบ้าง ซึ่งใน เมืองคยา ก็มีสถานที่สำคัญทางศาสนาอยู่มากมาย ทั้ง วัดพุทธนานาชาติ รวมไปถึง มหาเจดีย์พุทธคยา 1 ใน 4 สังเวชนียสถาน สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธทั่วโลก เพราะเป็นอนุสรณ์สถานแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งการเดินทางไป “เจดีย์พุทธคยา” ก็ง่ายๆ เพราะสามารถเดินไปได้ อยู่ห่างจาก วัดไทยพุทธคยา เพียง 450 เมตร เท่านั้นเอง โดยระหว่างทางก็ผ่านตลาด ร้านขายของต่างๆ ได้ชมวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองนี้ไปครับ..
ใช้เวลาเดินไม่เกิน 15 นาที (หรือถ้าใครไม่อยากเดิน จะนั่งสามล้อจากหน้าวัดมาก็ได้นะ คนละ 10 รูปี) ก็มาถึงทางเข้า “เจดีย์พุทธคยา” ซึ่งก่อนเข้าไปข้างในก็ต้องมีการฝาก โทรศัพท์มือถือ และ Power Bank ด้วย สำหรับ กล้องถ่ายรูป สามารถนำเข้าไปได้ แต่ต้องเสียค่านำกล้องเข้าไป 100 รูปี
ฝากโทรศัพท์มือถือ ที่จุดรับฝากเรียบร้อย ก็เดินตัวปลิวเข้าไปตามทางเดิน ที่เต็มไปด้วยพุทธศาสนิกชน จากทั่วสารทิศ เดินทางมารวมตัวกัน ณ ที่แห่งนี้
“เจดีย์พุทธคยา” อนุสรณ์สถานแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีลักษณะเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมทรงสูงสถาปัตยกรรมและศิลปะแบบอินเดีย เต็มไปด้วยลวดลายแกะสลักล้อมรอบดูงดงาม มีความสูงประมาณ 170 ฟุต ภายในเป็นที่ประดิษฐานของ “พระพุทธเมตตา” ที่นี่..ถือเป็นสถานที่สำคัญที่สุดของกลุ่มพุทธสถานพุทธคยา ปัจจุบันได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมอีกด้วย
บริเวณโดยรอบ “เจดีย์พุทธคยา” มีเจดีย์บริวารล้อมอยู่ทั้ง 4 ทิศ บรรยากาศภายในเราสัมผัสได้ถึง พลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนจากหลากหลายนิกาย ที่มาเข้าร่วมสวดมนต์ ปฎิบัติธรรม ดูน่าเลื่อมใส
ใกล้กันกับ “เจดีย์พุทธคยา” คือ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าประทับในช่วงเวลาตรัสรู้ ซึ่งตั้งแต่สมัยพุทธกาลมา มีทั้งหมด 4 ต้น ดังนี้
- ต้นที่ 1 คือ ต้นที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และได้ตายลงในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช
- ต้นที่ 2 คือ ต้นที่แตกหน่อออกมาจากต้นแรก และได้ถูกทำลายลงโดยกษัตริย์ฮินดู
- ต้นที่ 3 คือ ต้นที่แตกหน่อออกมาจากต้นแรก และได้ตายลงเพราะขาดการดูแล เพราะเป็นช่วงที่พระพุทธศาสนาเสื่อมโทร
- ต้นที่ 4 คือ ต้นศรีมหาโพธิ์ต้นปัจจุบันที่แตกหน่อมาจากต้นที่ 3 ได้รับการบำรุงดูแลอย่างดีมาจนถึงปัจจุบัน มีอายุกว่า 140 ปี
และ ใต้ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” จะมี “พระแท่นวัชรอาสน์” เป็นพระแท่นที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างขึ้นเพื่อบูชาสถานที่บำเพ็ญเพียรของพระพุทธเจ้า เป็นอีกจุดที่พุทธศาสนิกชนนิยมไป สวดมนต์ นั่งสมาธิอยู่รอบๆ บริเวณนี้
เราเดินชมภายในบริเวณ เจดีย์พุทธคยา อยู่สักครู่ ก็มีพระสงฆ์ชาวอินเดียท่านหนึ่ง อาสาพาเดินชมโดยรอบ พร้อมทั้งบรรยายและให้ข้อมูลในแต่ละจุดเป็นอย่างดี
พุทธศาสนิกชนที่มาเยือน เจดีย์พุทธคยา จะเฝ้ารอ ใบโพธิ์ จากต้นพระศรีมหาโพธิ์ร่วงหล่น เพื่อนำไปบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งก็ถือว่า.. เราโชคดีมาก ที่เก็บใบโพธิ์จากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ร่วงหล่น ได้มาคนละใบ คุ้มค่าที่ได้มาเยือนเป็นอย่างมากเลยครับ
บรรยากาศโดยรอบ เจดีย์พุทธคยา เต็มไปด้วยพุทธศาสนิกชนจากทั่วสารทิศ
พระสงฆ์ชาวอินเดีย พาเดินชมจุดสำคัญโดยรอบบริเวณ เจดีย์พุทธคยา ได้รับทราบประวัติความเป็นมาของที่นี่
“สระมุจลินทร์” สระน้ำขนาดใหญ่ ใกล้กับเจดีย์พุทธคยา กลางสระน้ำมี “พระพุทธรูปปางนาคปรก” ซึ่งพระสงฆ์ชาวอินเดียเล่าให้ฟังมีใจความว่า “ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ทรงนั่งวิปัสสนาริมสระอยู่ตลอดทั้ง 7 วัน 7 คืน และเกิดพายุฝนตกหนัก จากนั้นมี พญานาค นามว่า “มุจลินทร์” ได้เข้ามาใช้ร่างกายเป็นที่กำบังฝนให้แก่พระพุทธเจ้า”
สักครั้งในชีวิต! ได้มาสักการะพุทธสถานถึงถิ่นพุทธภูมิแห่งนี้ ก็เป็นเรื่องที่ดีเหมือนกันนะครับ ทำให้ได้เปิดหูเปิดตา และเห็นถึงพลังศรัทธาของชาวพุทธ ที่เดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศ ที่ต้องลองมาสัมผัสด้วยตัวเองครับ
ข้อมูลเพิ่มเติม “เจดีย์พุทธคยา”
- เวลาเปิด : 05.00 น. – 21.00 น.
- ค่าเข้าชม : ฟรี
- พิกัด : https://goo.gl/maps/TU7LxGwy51Fd5GtP7
วัดพุทธนานาชาติ ใน.. “คยา”
วัดพุทธนานาชาติ มีจุดเริ่มต้น ใน พ.ศ. 2500 รัฐบาลอินเดีย ได้เชิญชวนประเทศต่างๆ ที่ให้มาสร้างวัดด้วยศิลปะของตน ณ พุทธคยา โดยมีประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งสายมหายานและเถรวาท ที่ศรัทธามาสร้างวัดขึ้นมากมาย เช่น วัดไทย วัดพม่า วัดบังคลาเทศ วัดธิเบต วัดญี่ปุ่น วัดเวียดนาม วัดเกาหลี วัดภูฏาน วัดลาว วัดกัมพูชา เป็นต้น
การเดินทาง ไปยัง วัดพุทธนานาชาติ สามารถวางแผนเที่ยวด้วยการเหมารถสามล้อ หรือ ที่เรียกว่า Rickshaw พาไปวนเที่ยวตามวัดต่างๆ ได้ครับ หรือ ถ้าจะเลือกไปวัดที่เป็นไฮไลต์จริงๆ ก็จะมี อย่างเช่น วัดญี่ปุ่น วัดภูฏาน ที่มีความสวยงามไม่ควรพลาด ซึ่งสามารถเดินไปได้จาก วัดไทยพุทธคยา ครับ
“วัดบังคลาเทศ” (Bangladesh Buddhist Monastery) อยู่ติดกับ วัดไทยพุทธคยา สามารถเดินไปได้ในระยะทาง 40 เมตรเท่านั้น
“วัดภูฏาน” (Royal Bhutan Monastery) วัดที่มีความสวยงาม และมีศิลปะอันเป็นเสน่ห์ที่เราไม่อยากให้พลาด สามารถเดินไปได้จาก วัดไทยพุทธคยา เพียง 100 เมตร
วัดภูฏาน บรรยากาศสงบเงียบมาก แตกต่างจากความวุ่นวายของสภาพการจราจรนอกรั้ววัดอย่างสิ้นเชิง แค่ก้าวขาเข้ามาในเขตของอาณาบริเวณวัดก็สัมผัสได้ถึงความสงบ ต้นไม้ร่มรื่น มีสวนเล็กๆ ที่จัดได้อย่างสวยงาม
เราแวะเข้าไปไหว้พระภายในวิหาร ที่มี ศิลปะแบบภูฏาน ดูเป็นงานละเอียดน่าสนใจ จึงใช้เวลาเดินเล่นอยู่ที่นี่อยู่นานพอสมควรเลยครับ
“วัดญี่ปุ่น” (Japanese Temple) เหมือนหลุดเข้ามาอยู่ในประเทศญี่ปุ่นจริงๆ ภายในวัด อาคาร การจัดสวน และการตกแต่งต่างๆ เป็นศิลปะแบบญี่ปุ่น บรรยากาศดูโล่งๆ โดยรวมก็สงบเงียบดีครับ
แวะเข้ามาไหว้พระ เพื่อความเป็นสิริมงคลกันสักหน่อย ธูปที่จุด รวมไปถึงวิธีการไหว้ ก็จะเป็นแบบวัดพุทธญี่ปุ่นโดยแท้..
เดินไปอีกไม่ไกลก็จะพบกับ “Giant Buddha” หรือ “พระใหญ่ไดบุตซึ” ที่สามารถมองเห็นโดดเด่นมาตั้งแต่ไกล
“พระใหญ่ไดบุตซึ” เป็นพระพุทธรูปสร้างจากหินทรายแดง องค์สูงใหญ่ที่สุดในอินเดีย ซึ่งมีความสูง 25 เมตร เป็นอีกจุดหนึ่งที่ได้รับความนิยม ทั้งผู้แสวงบุญชาวอินเดีย และชาวต่างชาติ
“วัดมองโกเลีย” (Mongolian Temple) เป็นเป็นหนึ่งวัดที่มีสถาปัตยกรรมและศิลปะที่เรียบง่าย แต่..สวยงาม
นอกจากนี้ เราก็ได้เดินวนเที่ยวไปตามวัดพุทธนานาชาติต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน อย่างเช่น วัดเวียดนาม วัดกัมพูชา วันพม่า วัดสิกขิม ฯลฯ ซึ่งก็พบว่า.. ในบางวัดก็ปิดบ้าง หรือบางวัดก็ปิดซ่อมบำรุงบ้าง แต่..ในทุกวัดที่ได้แวะเข้าไปชมมา ก็มีความสวยงามดีครับ ได้ไหว้พระ และ ได้เห็นศิลปะจากหลากหลายประเทศ เหมือนได้ไปเที่ยวหลายประเทศในวันเดียวเลย 55+
เมื่อเข้าชม วัดพุทธนานาชาติ เสร็จเป็นที่เรียบร้อย เราก็กลับเข้าไปที่ วัดไทยพุทธคยา ที่พักของเราตามเดิมครับ กลับไปพักผ่อน อาบน้ำอาบท่า รอ ทานอาหารเย็น และ ทำวัตรเย็น ที่วัด ตามลำดับ ซึ่งคืนนี้.. เราอาจจะต้องรีบเข้านอนกันสักหน่อย เพราะต้องตื่นแต่เช้าตรู่ เพื่อขึ้นรถไฟ ไป “พาราณสี” อันเป็นจุดหมายต่อไป!
- อ่านต่อ >> EP 2/2 VARANASI : แสวงบุญที่ “อินเดีย” ง๊ายง่าย ตอน พาราณสี
#Gaya #Varanasi
#แสวงบุญที่อินเดียง๊ายง่าย
#ไปคยาไปกับแอร์เอเชีย
#ไปคยาพาราณสีไปกับแอร์เอเชีย
#AirAsiaTravels #AirAsia
#CHAILAIBACKPACKER
การท่องเที่ยวเชิงไฉไล | CHAILAIBACKPACKER
Fanpage : https://www.facebook.com/chailaibackpacker
Instagram : CHAILAIBACKPACKER
Twitter : @chailaibackpack / goo.gl/VIBXC9
E-mail : chailaibackpacker@gmail.com
Website : www.chailaibackpacker.com