#SCG : เที่ยวเกาะลิบง วางบ้านปลา ปลูกป่าโกงกางและหญ้าทะเล ชุมชนบ้านมดตะนอย จ.ตรัง

SHARE!

เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ” จ.ตรัง : เที่ยวเกาะลิบง เยือนชุมชนบ้านมดตะนอย วางบ้านปลา ปลูกป่าโกงกางและหญ้าทะเล กับ SCG!

ผมได้มีโอกาสได้เดินทางไปเยือน “จังหวัดตรัง” อีกครั้ง และ เป็นครั้งแรกที่ได้ไป “เกาะลิบง” ซึ่งเป็นเกาะที่มีความสงบเงียบ น่ามาพักผ่อน บรรยากาศดี ชาวบ้านน่ารัก ได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมง อาหารทะเลก็สด อร่อย และ ได้ลองตกหมึกอีกด้วย!

ความพิเศษของทริปนี้ อยู่ตรงที่ ผมได้มาร่วมกับโครงการ “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ” จ.ตรัง ที่ทาง SCG ได้จัดขึ้น เพื่อช่วยให้ชุมชนจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองได้อย่างแท้จริง และสามารถแก้ปัญหา ภัยแล้งได้ในระยะยาว โดยจะดำเนินงานผ่านกิจกรรมต่างๆ

สำหรับกิจกรรม “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ” ที่ จ.ตรัง ครั้งนี้ จะปลูกหญ้าทะเล 2,000 ต้น ในพื้นที่ 2 ไร่ และปลูกป่าโกงกางอีก 300 ต้น ในพื้นที่ 2 ไร่ และวางบ้านปลาจำนวน 20 หลัง ที่ ชุมชนบ้านมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนอันเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภัยแล้งทั่วประเทศ ครับ

 

โครงการ “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ

เอสซีจี น้อมนำแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ตลอดจนปลายน้ำ มาเป็นแนวทางดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องกว่า 10 ปี ช่วยให้ชุมชนแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี พร้อมชวนจิตอาสามาร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอด การจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อช่วยให้ชุมชนจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองได้อย่างแท้จริง และสามารถแก้ปัญหา ภัยแล้งได้ในระยะยาว โดยจะดำเนินงานผ่านกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

  • สร้างฝายชะลอน้ำ 10,000 ฝาย ในปี 2562 ในพื้นที่ จ.ลำปาง ระยอง สระบุรี กาญจนบุรี และนครศรีธรรมราช
  • สร้างสระพวงเชิงเขา และระบบแก้มลิงในพื้นที่ราบ ในพื้นที่ จ.ลำปาง สระบุรี และกาญจนบุรี
  • ปลูกต้นไม้จากภูผาสู่มหานที จำนวน 10,000 ต้น ในพื้นที่ จ.ลำปาง สระบุรี นครศรีธรรมราช และตรัง
  • ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งในพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก อาทิ จ.ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด
โครงการ “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ” โดย ผู้บริหารเอสซีจี และผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง

 

รวมพลังจิตอาสาทุกภาคส่วน ทำกิจกรรมรักษ์น้ำเฉลิมพระเกียรติแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน ที่ จ.ตรัง

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ มีสาเหตุเกิดจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งในบรรยากาศและในน้ำทะเล ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนินโญ่ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น และส่งผลกระทบต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศทั่วโลก รวมถึงการก่อให้เกิดภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนานกว่าปกติทั่วประเทศ

เอสซีจี จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน และเครือข่ายจิตอาสา จ.ตรัง จัด กิจกรรมปลูกต้นไม้จากภูผาสู่มหานที มาตั้งแต่ปี 2559 โดย ปลูกหญ้าทะเล ไปแล้วกว่า 14,000 ต้น ในพื้นที่ 15 ไร่ และ ปลูกป่าชายเลน ไปแล้วกว่า 1,400 ต้น ในพื้นที่ 15 ไร่ ตลอดจน การวางบ้านปลา ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 โดยได้วางบ้านปลาในพื้นที่คลองลัดเจ้าไหมไปแล้วจำนวนรวม 320 หลัง

สำหรับกิจกรรม “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ” ที่ จ.ตรัง ครั้งนี้จะปลูกหญ้าทะเล 2,000 ต้น ในพื้นที่ 2 ไร่ และปลูกป่าโกงกางอีก 300 ต้น ในพื้นที่ 2 ไร่ และวางบ้านปลาจำนวน 20 หลัง ที่ ชุมชนบ้านมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนอันเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภัยแล้งทั่วประเทศ

 

ออกเดินทาง สู่ จังหวัดตรัง!

เดินทางมาถึง สนามบินตรัง สภาพอากาศวันนี้ ท้องฟ้าสดใส..

แวะทานอาหารที่ ร้านโกเกี้ย กันตัง ซึ่งเป็นร้านอาหารเก่าแก่ของกันตัง อาหารเมนูท้องถิ่นอร่อยทุกอย่าง โดยมีเมนูแนะนำ อย่าง “ราดหน้าทะเล” และ ของหวานคลายร้อน อย่าง “เฉาก๊วยปั่น”

มาถึง กันตัง ทั้งที ก็ต้องแวะ สถานีรถไฟกันตัง ซึ่งเป็นสถานีสุดท้ายสิ้นสุดทางรถไฟฝั่งอันดามัน ตัวสถานีเป็นสถานีเก่าแก่สุดคลาสสิค ภายในมีห้องที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้เก่าๆ เกี่ยวกับรถไฟให้ได้ชม และใกล้กันก็มี ร้านกาแฟสถานีรัก ให้ได้นั่งพักจิบกาแฟกันอีกด้วย

เดินทางมาถึง ท่าเรือหาดยาว อันเป็นท่าเรือสำหรับเดินทางไปยัง “เกาะลิบง”

ลงเรือหัวโทงมุ่งหน้าไปยัง “เกาะลิบง” บรรยากาศในช่วงหน้าร้อน แดดค่อนข้างจัด..

ในระหว่างการเดินทาง ก็มี.. กิจกรรมการตกหมึก โดยมีการสาธิตวิธีการตกหมึกจากชาวบ้าน

ลอง “ตกหมึก” กันดูครับ อาจจะดูแปลกตากันสักหน่อย เพราะ ตกหมึกในช่วงเวลากลางวัน เคยเห็นแต่ตกกันตอนกลางคืน แต่ชาวบ้านบอกว่า.. ตอนกลางวันแบบนี้ ก็ตกได้นะ!

เรือแวะมาที่ ฟาร์มกุ้ง ซึ่งเลี้ยงอยู่ในกระชังกลางน้ำ

เรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมง ได้พูดคุย ถึงวิธีการเลี้ยงกุ้ง และสัตว์น้ำอื่นๆ

….ตัวใหญ่มาก!!!

 

เกาะลิบง จ.ตรัง

เดินทางมาถึง เกาะลิบง อย่างปลอดภัย บรรยากาศบนเกาะค่อนข้างสงบเงียบ..

ในช่วงบ่ายนี้.. เดินทางไปเที่ยวกันต่อที่ ริมชายหาดของ “เกาะลิบง”

สะพานหิน จุดท่องเที่ยวน่าสนใจของ เกาะลิบง ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์แนวโขดหิน ที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนกลายมาเป็นรูปร่างเหมือนสะพาน

สะพานหิน สามารถลองเดินข้ามไปมา หรือ ลอดไปใต้สะพานได้

สะพานหิน จึงกลายเป็นจุดถ่ายรูปที่น่าใจของนักท่องเที่ยวที่มาเยือน เกาะลิบง แห่งนี้!

หาดทุ่งหญ้าคา ชายหาดอีกหนึ่งหาดบนเกาะลิบง ที่มีความชิลไม่แพ้ที่อื่นๆ

ยามเย็น.. มารอชม พระอาทิตย์ตก ริมชายหาด

ความสวยงามของวิว พระอาทิตย์ตก ที่ เกาะลิบง

ทริปนี้.. ผมได้เข้าพักที่ ลิบง บีช รีสอร์ท เป็นที่พักริมหาด บน เกาะลิบง บรรยากาศน่าพัก สงบเงียบ วิวดี สามารถชมพระอาทิตย์ตกจากที่พักได้เลยครับ!

เมนูอาหารทะเล ของ ลิบง บีช รีสอร์ท อร่อยทุกอย่าง โดยเฉพาะ หอยชักตีน ที่มาเที่ยวตรัง ต้องไม่พลาดลองชิม!

 

 

เข้าสู่วันที่ 2 กับ โครงการ “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ” จ.ตรัง

เดินทางไปร่วมกิจกรรมกับ ชุมชนบ้านมดตะนอย ซึ่งเป็นชุมชนที่มีพื้นที่ติดกับทะเล คลองบ้านมดตะนอย และคลองลัดเจ้าไหม

โครงการ “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ” เป็นโครงการที่เอสซีจีได้น้อมนำแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ตลอดจนปลายน้ำ มาเป็นแนวทางดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องกว่า 10 ปี ช่วยให้ชุมชนแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี

พร้อมชวนจิตอาสา มาร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอด การจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อช่วยให้ชุมชนจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองได้อย่างแท้จริง และสามารถแก้ปัญหา ภัยแล้งได้ในระยะยาว โดยจะดำเนินงานผ่านกิจกรรมต่างๆ

 

รวมพลังจิตอาสาทุกภาคส่วน ทำกิจกรรมรักษ์น้ำเฉลิมพระเกียรติแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน ที่ จ.ตรัง

นั่งรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง ไปตาม ฐานเรียนรู้ ต่างๆ ดังนี้

  • สถานีอนุบาลพันธุ์พืช และสัตว์ทะเล
  • สถานีการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมสู่ชุมชนน่าอยู่
  • สถานีเรียนรู้เพาะพันธุ์หญ้าทะเล และป่าชายเลน

 

สถานีอนุบาลพันธุ์พืช และสัตว์ทะเล

เรียนรู้การอนุบาลพันธุ์พืช และสัตว์ทะเล ต่างๆ

 

สถานีการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมสู่ชุมชนน่าอยู่

ชุมชนบ้านมดตะนอย มีพื้นที่ติดกับทะเล คลองบ้านมดตะนอย และคลองลัดเจ้าไหม ทำให้หลายพื้นที่มีขยะลอยมาติดบริเวณชายฝั่งด้านต่างๆ กลายเป็นกองขยะสะสม ในช่วงแรกชุมชนยังไม่มีการจัดเก็บขยะเหล่านี้ เพราะมีความรู้สึกว่า.. ตนเองไม่ได้เป็นคนทิ้งขยะ ต้องให้หน่วยงานภาครัฐเป็นคนจัดการ

จนกระทั่งปี 2557 ได้เกิดจุดเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชน เมื่อคนภายนอกที่ได้มาศึกษาเยี่ยมชมชุมชนได้พูดเปรยให้คนในชุมชนได้ยินว่า “ชุมชนนี้มีขยะเยอะจัง” ทำให้คนกลุ่มหนึ่งในชุมชนเกิดความรู้สึกไม่ดี และรวมตัวกันด้วยความคิดที่ว่า “อยากให้ชุมชนสวยสะอาดน่ามอง” จึงได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านมดตะนอยเพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเริ่มจากกำหนดให้มีการทำความสะอาดบ้านตัวเองทุกวันศุกร์ และจะร่วมกันทำความสะอาดในพื้นที่สาธารณะเป็นประจำทุกเดือน เมื่อชาวบ้านในชุมชนเริ่มเห็นการทำงานของกลุ่ม และหมู่บ้านเริ่มสะอาดมากขึ้น จึงเกิดเป็นความร่วมมือร่วมใจมาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและขยายผลไปทั้งหมู่บ้าน

การนำเศษอาหาร เช่น เปลือกปู มาหมักเป็นน้ำหมักชีวภาพ

การจัดการหลอดพลาสติก โดยนำมารีไซเคิล ด้วยการทำความสะอาด และนำมาใส่เป็นหมอน เพื่อมอบให้ผู้สูงอายุในหมู่บ้าน

 

โครงการทำดีได้ดาว

  • ดาวประเภทปกติ 1 แต้ม: รพ.สต. ได้ประสาน 15 ร้านค้าในชุมชนเพื่อเข้าร่วมโครงการ โดยหากเด็กๆ นำถ้วย แก้วน้ำ หรือถุงผ้า นำมาใส่อาหาร/เครื่องดื่ม จะได้รับดาว 1 แต้ม เด็กๆ จะสะสมดาวเพื่อไปแลกของรางวัลที่ รพ.สต. (เช่น แก้วน้ำ กล่องใส่ข้าว ถุงผ้า)
  • ดาวทอง 3 แต้ม: สามารถแลกได้ที่ รพ.สต. เมื่อทำกิจกรรมสร้างจิตสำนึกเรื่องการจัดการขยะ เช่น การจัดการขยะมือถือ โดยใช้ขวดพลาสติกในการเก็บขยะแบบพกพา เมื่อขยะเต็มขวดสามารถนำมาแลกดาวได้

 

สถานีเรียนรู้เพาะพันธุ์หญ้าทะเล และป่าชายเลน

หญ้าทะเล เป็นผู้ผลิตที่สำคัญในระบบนิเวศวิทยาทางทะเลในลำดับต้นๆ เช่นเดียวกับแพลงค์ตอนพืช สาหร่ายทะเล รวมทั้งป่าชายเลน เนื่องจากเป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีความหนาแน่น มีปริมาณมาก การกักเก็บคาร์บอนในระบบนิเวศหญ้าทะเลจะสูงกว่าระบบนิเวศป่าบกเขตร้อนถึง 50 เท่า

ดังนั้น หญ้าทะเล จึงมีความสำคัญอย่างมากในด้านการกักเก็บคาร์บอนจากธรรมชาติ โดยหญ้าทะเลสามารถช่วยตรึงคาร์บอนไดออกไซด์เก็บไว้ในรูปแบบของมวลชีวภาพผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช เช่น ราก ใบ ลำต้น และดักจับตะกอนดินที่ไหลมาจากระบบนิเวศอื่นๆ


หญ้าทะเล นอกจากจะเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของพะยูนแล้ว ยังมีประโยชน์สำหรับชาวประมงด้วย เพราะหญ้าทะเลจะเป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นที่วางไข่ให้กับสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ถึงแม้บริเวณชายฝั่งทะเลโดยรอบบ้านมดตะนอย จะมีพื้นที่หญ้าทะเลอยู่หลายจุด แต่ก็ลดลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ชุมชนจึงต้องการขยายพื้นที่การปลูกให้มากขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องจำนวนของหญ้าทะเล และการที่ต้องไปขอต้นหญ้าทะเลจากพื้นที่อื่นมาปลูก ชุมชน และ เอสซีจี จึงร่วมกันไปศึกษาดูงานจากแหล่งเพาะพันธุ์หญ้าทะเล เช่น มูลนิธิอันดามัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด อ.สิเกา จ.ตรัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง แล้วนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้กับความรู้ที่ชุมชนมีอยู่ สร้างเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หญ้าทะเล โดยออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์เอง รวมถึงสร้างกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน ตั้งแต่การเก็บพันธุ์หญ้าทะเล ทดลองปลูกในศูนย์เพาะพันธุ์ เพื่อเก็บเป็นองค์ความรู้ของชุมชนเอง ปัจจุบันได้เพาะพันธุ์หญ้าทะเลไว้ 1,000 ต้น และมีอัตราการรอดตายระหว่างเพาะพันธุ์ 80% โดยในปี 2562 นี้มีเป้าหมายการปลูกหญ้าทะเลให้ครบ 10 ไร่

การวางบ้านปลา บ้านปลาที่ใช้นวัตกรรมปูนคนใต้ซึ่งมีคุณสมบัติแข็งแรงทนทานและทนซัลเฟตและคลอไรด์จากน้ำทะเล ทำให้คอนกรีตมีอายุการใช้งานยาวนาน และไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมแม้อยู่ใต้ท้องทะเล

เมื่อวางบ้านปลา ได้ประมาณ 3 เดือนจะมีเพรียงและสัตว์น้ำขนาดเล็กมาเกาะยึดบริเวณผิวของบ้านปลา ทำให้มีปลาหลายชนิดเข้ามาหลบพักอาศัย ช่วยเพิ่มพื้นที่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในทะเล ซึ่งส่งผลดีต่ออาชีพประมง ทำให้ชาวประมงสามารถทำประมงได้แม้อยู่ในช่วงหน้ามรสุม โดยไม่ต้องนำเรือออกไปในทะเลใหญ่ และยังส่งผลถึงความปลอดภัยที่มากขึ้นของชาวประมง และทำให้เกิดการประกอบอาชีพประมงอย่างยั่งยืนอีกด้วย

 

 

ร่วมกัน ปลูกป่าโกงกาง ฟื้นคืนระบบนิเวศทางทะเล กำแพงกันลมร้อนของชุมชน

ป่าชายเลน หรือ ป่าโกงกาง เป็นอีกแหล่งที่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงกว่าระบบนิเวศป่าบก เนื่องจากไม้ในป่าชายเลนมีอัตราการสังเคราะห์แสงสูง โดยการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรูปแบบของเนื้อไม้ และมีการกักเก็บตะกอนดินที่พัดพา จึงช่วยดูดซับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากขึ้นเช่นกัน รวมถึงเพิ่มปริมาณออกซิเจนในบรรยากาศ

หญ้าทะเล เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของพะยูน และเป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นที่วางไข่ให้กับสัตว์ทะเลขนาดเล็ก เพื่อที่จะเติบโต และ ช่วยให้ธรรมชาติมีความสมบูรณ์สืบไป..

*ขอบคุณ SCG สำหรับทริปสนุกๆ และได้ความรู้ ด้วยครับ!

 

แผนที่ ชุมชนบ้านมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง

 

 


การท่องเที่ยวเชิงไฉไล | CHAILAIBACKPACKER

Fanpage : https://www.facebook.com/chailaibackpacker
Instagram : CHAILAIBACKPACKER
Twitter : @chailaibackpack / goo.gl/VIBXC9
E-mail : chailaibackpacker@gmail.com
Website : www.chailaibackpacker.com